คนมักถามอาจารย์ว่า "จะอ่านหนังสือเล่มไหนดี"
อาจารย์เล่าในบทที่ 5 นี้ว่าไม่มีใครรู้หรอกว่า
หนังสือเล่มไหนดีสำหรับใคร
หนังสือเล่มเดียวที่สามารถตอบข้อสงสัย
และคำถามทั้งหมดของคนเราได้นั้น "ไม่มีจริงในโลก"
แม้แต่สารานุกรมที่ดีที่สุดชุดหนึ่งคือ
สารานุกรมบริเตนนิกา - Encyclopædia Britannica
ก็ยังไม่ใช่เล่มนั้น
พระไตรปิฎกก็ยังไม่ใช่
เพราะสำหรับทางโลกแล้ว
(โลกิยะ) ก็ไม่ได้มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งหมด
(แต่ในแง่โลกุตระอาจจะใช่ ถ้าปัจจัยถึงพร้อม)
และเสริมอีกว่าการอ่านหนังสือธรรมะ
ควรอ่าน ควรศึกษา ควรฟังก่อนจะมีทุกข์
เหมือนการมีภูมิคุ้มกันไว้ก่อน
ไม่ใช่เจอทุกข์สาหัสแล้วหันเข้าหาธรรม
แบบนั้นไม่ทันการแน่นอน
หนังสือที่ควรอ่านก็มีคนจัดทำไว้อยู่
เช่น "หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน"
สำหรับการอ่าน เรื่องจริตก็สำคัญ
ชอบแนวไหน น้อมไปทางไหน เอาที่ชอบ
เริ่มจากจุดนั้น (เข้าหลักฉันทะเช่นเคย)
ตามร้านหนังสือในห้าง
มีหนังสือหลากหลายให้เลือกก็ดีเหมือนกัน
ช่วยให้ได้ลองอ่าน ลองเลือกแบบที่ตรงจริต
เราไม่รู้ล่วงหน้าหรอกว่าจะชอบหนังสือเล่มไหน
ชอบนักเขียนคนไหน มันต้องเริ่มและลอง!
ทำเป็นนิสัยสุดท้ายมันจะกลายเป็นนิสัยชอบอ่านได้
โดยที่คุณอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
เรื่องการอ่าน เรื่องหนังสือ ช่วงของชีวิต
ประสบการณ์ โอกาสและอื่นๆ มันพัวพันกันไปหมด
มันต้องอ่านเอง ลงมือเองถึงจะเห็นผล
คนอื่นได้แค่บอกและแนะนำบ้างเท่านั้น
อาจารย์อ่านหนังสือหลากหลายตามช่วงวัย
(แรกเริ่มอ่านการ์ตูนเพราะสนุก)
และตามความสนใจ ตามโอกาสอำนวย
สุดท้ายกลายเป็นสิ่งใหม่ไม่รู้ตัว เหมือนเมล็ดพันธุ์
ร่วงลงสู่พื้นดิน งอก เติบใหญ่เป็นต้นไม้ในที่สุด
อาจเรียกนี่ว่า "นิสัยชอบการอ่าน"
อาจารย์ส่งท้ายว่า
"นิสัยชอบการอ่าน ไม่รู้มันมายังไง มาเมื่อไร
แต่มันอยู่ในตัวผมตลอดเวลา บางครั้งก็โกรธกัน
บางครั้งก็ดีกัน บางครั้งก็เบื่อกัน เกลียดกัน งอนกัน
แต่ก็อยู่ด้วยกัน ไม่ห่างหายกันไป
ผมว่ามันคงจะตายไปพร้อมกับผมนั่นแหละ"
วันนี้สรุปแค่บทที่ 5 ของหนังสือ
"ว่าด้วยหนังสือและการอ่าน"
อ่านวันละนิดกำลังดี เป็นการฝึกการอ่านไปในตัว
สำหรับบทที่ 5 นี้อาจารย์พูดถึงหนังสือแค่ 2 ชุดใหญ่ๆ
ทุกความคิดมีที่มา ทุกเจตนาแฝงในการกระทำ
ลูกมด - 20 พ.ย. 65
...................................